เต่าเกียด ๓

Sagittaria trifolia L.

ชื่ออื่น ๆ
ขาเขียด, เต่าเขียด, นางกวัก, หูกวาง (กรุงเทพฯ); ผักคางไก่ (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน); ผักตีนกา (แม่ฮ่อง
ไม้น้ำล้มลุกปีเดียว ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลม ลำต้นเหนือดินแตกเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๒ แบบ แบบใบใต้น้ำรูปแถบ ไร้ก้าน และแบบใบเหนือน้ำรูปหัวลูกศร มีก้านใบ ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ชูดอกเหนือน้ำ กลีบดอกสีขาว มีก้านกลีบ ผลแบบผลกลุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปใบหอกกลับ ผิวเรียบ เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑ เมล็ด

เต่าเกียดชนิดนี้เป็นไม้น้ำล้มลุกปีเดียว ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลม ลำต้นเหนือดินแตกเป็นกอ สูงประมาณ ๑ ม. มีไหลยาวได้ถึง ๑๘ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๒ แบบ แบบใบใต้น้ำรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๐.๗ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ไร้ก้าน และแบบใบเหนือน้ำรูปหัวลูกศร กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. แผ่นใบสีเขียว เส้นใบจากโคนใบ ๓-๕ เส้น ก้านใบรูปสี่เหลี่ยม ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. โคนแผ่เป็นกาบประกบกัน ยาวได้ถึง ๗ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นวงรอบแกนกลางช่อ ๒-๑๐ วง แต่ละวงมี ๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓๐-๖๐ ซม. รูปสามเหลี่ยม ชูดอกเหนือน้ำ มีใบประดับ ๒ ใบ สีเขียว รูปใบหอกถึงรูปแถบ ยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ


สีเขียว กลีบดอก ๓ กลีบ สีขาว มีก้านกลีบ ดอกเพศผู้อยู่ช่วงบน ดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๓ ซม. ดอกเพศผู้ ก้านดอกกว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกถึงรูปแถบ ยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. โค้งออก กลีบดอกรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูสีเหลือง มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมีย ก้านดอกกว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอกรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๙ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีก้านกลีบสีม่วงถึงสีแดง ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปใบหอกกลับ ผิวเรียบ มีครีบด้านข้าง ๒ ครีบ เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑ เมล็ด

 เต่าเกียดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบขึ้นตามแหล่งน้ำจืดที่น้ำไม่ลึกมาก หนองน้ำ คูคลอง และนาข้าว ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบตั้งแต่ตะวันออกกลางถึงจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต่าเกียด ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sagittaria trifolia L.
ชื่อสกุล
Sagittaria
คำระบุชนิด
trifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ขาเขียด, เต่าเขียด, นางกวัก, หูกวาง (กรุงเทพฯ); ผักคางไก่ (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน); ผักตีนกา (แม่ฮ่อง
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววีรญา บุญเตี้ย